"ทักษะอาชีพ" เครื่องเคียงการศึกษายุคใหม่

จากข้อมูลอันน่าตกใจของสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ที่ค้นพบว่า เยาวชนไทยอายุต่ำกว่า 18 ปี ทุก ๆ 6 คน ใน 10 คน จะหลุดออกจากระบบการศึกษาและต้องถูกผลักเข้าสู่ตลาดแรงงานอย่างไม่ได้ตั้งตัว ทั้งที่มีวุฒิแค่ ม.6 ม.3 หรือต่ำกว่า จึงกลายเป็นคำถามขึ้นมาว่า ที่ผ่านมาการศึกษาขั้นพื้นฐานได้เตรียมความพร้อมให้แก่เด็กของเรามากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะการสร้างทักษะในการทำงาน หรือว่าให้แต่ความรู้วิชาการเพียงอย่างเดียว ซึ่งไม่น่าจะเพียงพอที่จะช่วยให้เด็กออกไปต่อสู้ชีวิตได้อย่างมั่นคง
          เรื่องนี้ได้กลายเป็นปัญหาร่วมของระบบการศึกษาไทย ที่ต้องการพลังสนับสนุนจากทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมกันแก้ไข ซึ่งในเวทีเสวนาเครือข่ายผู้นำการเรียนรู้ครั้งที่ 4 (เวทีสัญจร) ในหัวข้อ "เครือข่ายผู้นำการเรียนรู้สู่ทักษะชีวิต และโลกของงาน" ณ ห้องประชุม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) เชียงใหม่ เขต 2 อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ จัดโดย สสค. ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการและสพป.เชียงใหม่ เขต 2 เมื่อเร็ว ๆ นี้ ก็เป็นอีกครั้งที่ทุกภาคส่วนได้มีโอกาสเข้ามารวมพลังช่วยกันคิด และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ระหว่างกันในการสร้างความพร้อมให้แก่เด็ก โดยเฉพาะเรื่องของทักษะการทำงาน
          ในพื้นที่สพป.เชียงใหม่ เขต 2 มีการส่งเสริมการเรียนรู้ทักษะอาชีพอย่างจริงจัง โดยสถานศึกษา 30 แห่ง ได้รวมตัวกันเป็น "ชมรมส่งเสริมการศึกษาวิชาชีพ" ตั้งแต่ปลายปี 2555 มีนายสงกรานต์ เดชปัญญา ผอ.รร.บ้านหนองไคร้ อ.สันทราย เป็นประธาน ซึ่งชมรมจะทำหน้าที่ประสานการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านอาชีพระหว่างกัน โดยระยะแรกได้คัดเลือก 9 โรงเรียนนำร่องเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์หรืองานบริการที่โดดเด่น ซึ่งผอ.สงกรานต์ บอกว่า ในการดำเนินงานทางชมรมฯจะหาทุนสนับสนุนเอง เพราะหากรองบประมาณจากส่วนกลาง งานก็คงไม่เกิด จึงต้องคิดช่วยเหลือตัวเอง โดยมีเป้าหมายนอกจากจะสอนให้เด็กมีความรู้ในการสร้างผลิตภัณฑ์แล้ว ยังต้องมีความรู้เรื่องการตลาดอีกด้วย
          โรงเรียนป่าจี้วังแดงวิทยา อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ หนึ่งในกรณีตัวอย่างที่ถูกหยิบยกมานำเสนอ ซึ่งนายณรงค์ ลุมมา ผอ.รร.ป่าจี้วังแดงวิทยา เล่าว่า คนในพื้นที่มีอาชีพเกษตรเป็นอาชีพดั้งเดิม จึงส่งเสริมทักษะอาชีพด้านการเกษตรให้แก่นักเรียน เปิดพื้นที่ให้เด็กได้ปฏิบัติจริง เช่น การทำนา การเลี้ยงเป็ด การเลี้ยงปลาดุก ทำน้ำหมักชีวภาพ ฯลฯ รวมถึงสอนการแปรรูปผลิตภัณฑ์เกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่า โดยได้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ชุมชน ผู้ปกครอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งจะทำให้เด็กมีความรู้ มีทักษะชีวิตและมีความรู้อาชีพติดตัว
          "ทั้งหมดเป็นกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้เด็กเข้าสู่ชีวิตจริง แต่บางอย่างก็สอนกันตรง ๆ ไม่ได้ เช่น เรื่องของความอดทน ซื่อสัตย์ สุจริต แต่ต้องสอนผ่านการทำกิจกรรม โดยคาดหวังว่าเด็กที่จบการศึกษาออกไปจะเป็นมืออาชีพ ไม่ว่าจะไปทำงานอะไร ต้องทำงานแบบมืออาชีพ เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันในตัวเด็ก" ผอ.ณรงค์ กล่าว
          ในขณะที่ผอ.สุภาพ ดำอำไพ ผอ.รร.บ้านป่าฮิ้น อ.พร้าว ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ว่า รร.บ้านป่าฮิ้น นำร่องการสอนหลักสูตรแปรรูปผลิตภัณฑ์จากมะม่วง เพราะในพื้นที่ที่โรงเรียนตั้งอยู่มีผลผลิตมะม่วงจำนวนมาก จึงนำมะม่วงตกเกรดมาเพิ่มมูลค่า เป็นการสอนให้เด็กรู้จักคิดและหาทางแก้ปัญหา ซึ่งการสอนทักษะอาชีพในระยะแรก ต้องทำ ความเข้าใจกับผู้ปกครองที่ไม่เห็นด้วย เพราะอยากให้ลูกหลานเรียนหนังสือเพื่อหวังให้เรียนสูง ๆ แต่ปัจจุบันส่วนใหญ่จะเข้าใจและให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี
          นายสินอาจ ลำพูนพงศ์ ผอ.สพป.เชียงใหม่ เขต 2 เล่าว่า จากการที่แต่ละโรงเรียนได้จัดสอนทักษะอาชีพให้แก่นักเรียน ทำให้เกิดมีผลิตภัณฑ์เกิดขึ้นมากมาย ขณะนี้ทางสพป.เชียงใหม่ เขต 2 จึงได้เปิดศูนย์จัดการความรู้ขึ้นที่สำนักงานเขตฯ เพื่อเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และจำหน่ายสินค้าของนักเรียน ทั้งนี้ตนอยากย้ำว่า การดำเนินการทั้งหมด ไม่ได้สนใจเรื่องกำไรหรือขาดทุน แต่มีวัตถุประสงค์สำคัญคือ การสอนให้เด็กได้เรียนรู้ทักษะอาชีพจากประสบการณ์การทำงานจริง
          "การฝึกทักษะการทำงานไม่ใช่จะต้องรอให้ถึงวัยทำงานก่อน แต่ควรสอนตั้งแต่เด็ก เพราะเป็นการสร้างทัศนคติที่ดีต่อการทำงาน ซึ่งจะมีความสำคัญอย่างมากต่อการดำเนินชีวิตในอนาคต" ผอ.สินอาจ กล่าว
          ในขณะที่นายชัดชาญ เอกชัยพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการบริษัทเชียงใหม่วนัสนันท์ ให้มุมมองในฐานะภาคธุรกิจเอกชนว่า ค่านิยมปริญญาเป็นเรื่องที่ผิดมานาน เราจะได้ยินมาตลอดว่า คนไทยอยากให้ลูกหลานเรียนสูง ๆ จะได้เป็นเจ้าคนนายคน ซึ่งฟังดูดีแต่วิบัติ ทำให้เด็กบ้านนอกไปยินดีกับสิ่งที่ไม่มี จึงต้องแก้ให้เด็กรู้ว่าต้องภูมิใจในอะไร ต้องเปลี่ยนค่านิยมไม่ให้ทิ้งถิ่น ซึ่งตนมองว่าเราต้องภูมิใจในความเป็นบ้านนอก เรามีดีอะไรมากมาย ต้องภูมิใจในสิ่งที่คนพื้นที่อื่นไม่มี ต้องทำให้คนภูมิใจในถิ่นที่อยู่ของเขา เพราะคนบ้านนอกถึงจะถือกระเป๋าหลุยส์ ยังไงก็ดูรู้ว่าเป็นบ้านนอก
          "เราต้องปลูกฝังให้เด็กรู้ว่าการทำงานไม่ใช่เรื่องน่าอาย ซึ่งการสอนทักษะอาชีพให้แก่เด็กก็คือการสอนให้รู้ว่า ทุกอย่างคือวิชา คือทักษะ และไม่มีคำว่าผิด แม้ของที่ทำมาจะเจ๊งขายไม่ได้ก็ไม่ผิด ขนาดผู้ใหญ่ยังทำธุรกิจเจ๊งเยอะแยะ แล้วทำไมเด็กจะทำเจ๊งไม่ได้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลก แต่เราต้องสอนให้เด็กรู้จักหาคำตอบว่าผิดพลาดเพราะอะไร ขายไม่ได้ก็ให้หาคำตอบ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อชีวิตอย่างมาก เป็นการเรียนรู้จากความผิดพลาด" นายชัดชาญ ฝากข้อคิดที่น่าสนใจ
          ด้าน ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ที่ปรึกษาด้านวิชาการ สสค.มองว่า การปลูกฝังให้เด็กเรียนรู้การทำงาน เป็นการตอบโจทย์ที่สำคัญสำหรับชีวิตของเด็กแต่ละคนที่จะได้มีศักยภาพที่มั่นคงในการทำมาหากินอยู่ในพื้นที่ได้ และการเรียนรู้จากความผิดพลาดก็เป็นสิ่งสำคัญ ในอนาคตเราอาจต้องมีวิชา "ขาดทุนศึกษา" เพื่อสอนการหาคำตอบจากความผิดพลาดกับคำพูดที่ได้ยินกันบ่อยว่า เด็กรุ่นใหม่ติดสบาย ใจเสาะ ไม่รับผิดชอบ ไม่สู้งานหนัก หยิบโหย่ง คิดไม่เป็น ทำไม่เป็น ประมาณว่าไม่มีอนาคตเอาซะเลย ฯลฯ ซึ่งหากคำพูดบ่นเหล่านี้เป็นความจริง และครอบครัวไหนมีลูกหลานที่ "ใช่เลย" กับพฤติกรรมแบบนี้ คงไม่ต้องสงสัยว่าผู้ใหญ่ในครอบครัวนั้น ๆ จะรู้สึกเป็นทุกข์ร้อนใจขนาดไหน แต่สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองของนักเรียน รร.ป่าจี้วังแดงวิทยา และ รร.บ้านป่าฮิ้น รวมถึงโรงเรียนทั้งหมดในชมรมส่งเสริมการศึกษาวิชาชีพของสพป.เชียงใหม่ เขต 2 คงไม่รู้สึกเป็นทุกข์เป็นร้อนกับเรื่องเหล่านี้อีกแล้ว เพราะอย่างน้อยก็เชื่อได้ว่าลูกหลานของเขาน่าจะมีทักษะที่พอจะเอาตัวรอดในสังคมแห่งการแข่งขันนี้ได้พอสมควร

                                                          ที่มา เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 17 ก.ย. 2556

ความคิดเห็น